William II (1792–1849)

พระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๓๕–๒๓๙๒)

 พระเจ้าวิลเลียมที่๒เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๐–๑๘๔๙ ทรงเป็นสมาชิกองค์ที่ ๒ ของราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา (Orange-Nassau) หรือออเรนจ์ที่ได้ครองเนเธอร์แลนด์ที่จัดตั้งเป็นประเทศตามมติในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ค.ศ. ๑๘๑๕ ทรงใช้ชีวิตในเยาว์วัยตั้งแต่พระชนมายุ ๒ พรรษาในต่างแดน ทรงได้รับการศึกษาในปรัสเซียและอังกฤษ และได้เข้าประจำการในกองทัพอังกฤษ เมื่อฝรั่งเศสเริ่มเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในปลายสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* เจ้าชายวิลเลียมทรงมีโอกาสเสด็จกลับเนเธอร์แลนด์พร้อมพระราชบิดาใน ค.ศ. ๑๘๑๓ ระหว่างสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* ทรงทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพหน้าของอังกฤษในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)* เมื่อมีการสถาปนาเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศ พระองค์ทรงมีตำแหน่งสำคัญทางการเมือง รวมทั้งทำหน้าที่ปกครองมณฑลภาคใต้ของเนเธอร์แลนด์ (คือเบลเยียม) แต่ไม่สามารถรักษาเบลเยียมจากการแยกตัวออกจากเนเธอร์แลนด์ได้ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๔๐ ทรงพยายามดำรงสถาบันกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์และดำเนินนโยบายสายกลาง เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* โปรดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่ประชาชนในการเลือกตั้งและเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างเท่าเทียมกันอันเป็นการวางรากฐานสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของเนเธอร์แลนด์

 พระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ เป็นพระราชโอรสองค์โตในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๑๕–๑๘๔๐)* และสมเด็จพระราชินีวิลเฮลมินา (Wilhelmina)*พระราชธิดาในพระเจ้าเฟรเดอริกวิลเลียมที่ ๒ (Frederick William II) แห่งปรัสเซียและสมเด็จพระราชินีเฟรเดอรีกา ลุยซาแห่งเฮสเซอ-ดาร์มชตัดท์ (Frederika Louisa of Hesse-Darmstadt) ประสูติเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ ที่พระราชวังโนร์ดีนเดอ (Noordeinde Palace) ณ กรุงเฮก ขณะที่พระราชบิดาดำรงพระอิสริยยศ “เจ้าชายรัชทายาท” (Erfprins; Herding Prince) แห่งสหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ (United Provinces of the Netherlands) พระองค์ทรงมีพระอิสริยยศและพระนามเมื่อแรกประสูติว่าเจ้าชายเฟรเดอริก เคออเคอ โลเดอไวก์ (Frederik George Lodewijk) มีพระอนุชา ๑ พระองค์และพระกนิษฐา ๒ พระองค์ ซึ่งล้วนแต่ประสูติในต่างแดนทั้งสิ้นขณะที่เนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองหลังเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)*

 การปฏิวัติฝรั่งเศสได้กระตุ้นให้ชาวดัตช์รักชาติซึ่งเลื่อมใสในอุดมการณ์ฝรั่งเศสเริ่มต่อต้านรัฐบาลอนุรักษนิยมที่อยู่ใต้อำนาจของพวกนิยมราชวงศ์ออเรนจ์(Orangist)มากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๗๙๕เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ยกกองทัพเข้ารุกรานเนเธอร์แลนด์ ชาวดัตช์จึงมิได้ต่อต้านมากนัก มีผลให้ประมุขรัฐเจ้าชายวิลเลียมที่ ๕ (William V) พระอัยกาและพระราชวงศ์ต้องเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศโดยพระอัยกาเสด็จไปประทับที่อังกฤษ เจ้าชายวิลเลียมทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์ในราชสำนักปรัสเซียซึ่งเป็นพระญาติทางสายพระมารดา พระองค์ได้รับการศึกษาทั่วไปและวิชาการทหารรวมทั้งเข้าสังกัดในกองทัพปรัสเซียด้วย ขณะเดียวกันหลังจากพระราชวงศ์ลี้ภัยนั้น พวกชาตินิยมได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐบาตาเวีย (Batavian Republic) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๙๕ และดำรงอยู่จนถึง ค.ศ. ๑๘๐๓ โดยมีสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑ (First French Republic)* เป็นแม่แบบ อำนาจราชวงศ์ออเรนจ์จึงสิ้นสุดลงขณะเดียวกันกองทัพฝรั่งเศสก็ยังคงประจำการในเนเธอร์แลนด์ต่อไปและปฏิเสธที่จะถอนกำลังตามคำเรียกร้องของอังกฤษ อังกฤษจึงประกาศสงครามกับฝรั่งเศสราชวงศ์ออเรนจ์จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะแสวงหาพันธมิตรกับอังกฤษเพื่อหวังพึ่งอังกฤษในการกอบกู้อำนาจกลับคืนมา และทำสนธิสัญญากับอังกฤษยินยอมยกดินแดนอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในดินแดนต่าง ๆ ให้แก่อังกฤษเพื่อ “ความปลอดภัย” และมีคำสั่งให้ข้าหลวงอาณานิคมจำนนต่อกองทหารอังกฤษด้วยสนธิสัญญาดังกล่าวจึงเป็นการสิ้นสุดของอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ทั้งต่อมาต้องสูญเสียอาณานิคมสำคัญไปอย่างถาวร เช่น เคปโคโลนี (Cape Colony) กายอานา (Guyana) ซีลอน (Ceylon) หรือศรีลังกาให้แก่อังกฤษ ยกเว้นอินโดนีเซียซึ่งได้รับคืนใน ค.ศ. ๑๘๑๔

 ใน ค.ศ. ๑๘๐๒ นโปเลียนขณะดำรงตำแหน่งกงสุลที่ ๑ (First Consul) ได้พยายามฟื้นฟูสันติภาพระหว่างฝรั่งเศสสเปนและเนเธอร์แลนด์โดยร่วมกันทำสนธิสัญญาอาเมียง (Treaty of Amiens)* ขึ้น ซึ่งมีผลให้ดินแดนในเขตสังฆมณฑล(abbatial domains) ในดินแดนจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ถูกผนวกเข้าเป็นราชรัฐนัสเซา-ออเรนจ์-ฟุลดา (Principality of Nassau-Orange-Fulda) และให้อยู่ในอำนาจการปกครองของราชวงศ์ออเรนจ์เพื่อเป็นการชดเชยดินแดนในปกครองที่สูญเสียให้แก่สาธารณรัฐบาตาเวีย อย่างไรก็ดีเมื่อนโปเลียนได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* ก็ทรงยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ และจัดตั้งสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าราชวงศ์ออเรนจ์ต้องตกอยู่ในเครือข่ายอำนาจของฝรั่งเศสไปโดยปริยายต่อมาเมื่อเกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซียเจ้าชายวิลเลียมพระราชบิดาซึ่งขณะนั้นได้สืบทอดตำแหน่งประมุขรัฐต่อจากเจ้าชายวิลเลียมที่ ๕ ที่สิ้นพระชนม์และเฉลิมพระนามเจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ (William VI) ทรงเข้าข้างปรัสเซียที่อยู่ใต้การปกครองของพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๓ (Frederick William III)* และร่วมรบในยุทธการที่เมืองเยนา (Battle of Jena ค.ศ. ๑๘๐๖)* แต่พ่ายแพ้และทำให้พระองค์เสียอำนาจในการปกครองรัฐ

 ใน ค.ศ. ๑๘๐๙ เมื่อออสเตรียเข้าสู่สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕ (The Fifth Coalition War)เจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ทรงพยายามฟื้นฟูบทบาทของราชวงศ์ออเรนจ์โดยเข้าร่วมรบกับฝ่ายออสเตรียและอังกฤษในยุทธการที่วากราม (Battle of Wagram)* เพื่อต่อต้านฝรั่งเศส แม้จะพ่ายแพ้แต่ก็ทำให้ราชวงศ์ออเรนจ์ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับฝรั่งเศสอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ออเรนจ์กับราชวงศ์แฮโนเวอร์ (Hanover)* แห่งอังกฤษก็แนบแน่นมากขึ้นตามลำดับ และมีผลให้เจ้าชายวิลเลียมพระโอรสเสด็จไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) ต่อมาทรงเข้าประจำการในกองทัพอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๑๑ ขณะมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา เจ้าชายวิลเลียมได้รับการแต่งตั้งเป็นทหารองครักษ์ประจำตัวของอาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กที่ ๑ แห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, 1ˢᵗ Duke of Wellington)* และได้รับอนุญาตให้เดินทางติดตามเวลลิงตันไปสังเกตการณ์ในสงครามคาบสมุทร (Peninsular Wars)* ในสเปนทั้งยังได้รับยศพันโทและพันเอกในปีเดียวกันนั้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๑๒ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นทหารราชองครักษ์ในเจ้าชายจอร์จ ออกัสตัส เฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ [(George Augustus Frederick, Prince of Wales) ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษในพระนามพระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IVค.ศ. ๑๘๒๐–๑๘๓๐)*] และในปลาย ค.ศ. ๑๘๑๓ ได้เลื่อนยศเป็นนายพลตรีเจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นนายทหารที่มีความสามารถและความกล้าหาญ ทรงเป็นที่ชื่นชมของชาวอังกฤษอย่างมากและมีพระนามเรียกติดปากจากชาวอังกฤษอย่างเอ็นดูว่า “บิลลีหุ่นงาม” (Slender Billy)

 ในปลายสงครามนโปเลียน เจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ขณะที่ทรงลี้ภัยในปรัสเซียได้เข้าเฝ้าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I)* แห่งรัสเซีย ในเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ และทรงได้รับคำมั่นสัญญาจากซาร์ที่จะช่วยนำอิสรภาพมาสู่เนเธอร์แลนด์พร้อมกับจะสถาปนาเจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ หลังจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรสนธิกำลังกันและสามารถปลดแอกเนเธอร์แลนด์ได้ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๓ รัฐบาลพลัดถิ่นของเนเธอร์แลนด์ได้ถูกจัดตั้งขึ้น ต่อมาในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน เจ้าชายวิลเลียมได้ตามเสด็จเจ้าชายวิลเลียมที่ ๖ พระราชบิดานิวัตเนเธอร์แลนด์ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่พระชนมายุ ๒ พรรษาที่พระองค์ได้มีโอกาสย่างพระบาทเข้าสู่เนเธอร์แลนด์อันเป็นปิตุภูมิของพระองค์ ในเดือนธันวาคมเจ้าชายวิลเลียมทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายพลตรีประจำกองทัพอังกฤษ

 ระหว่างสมัยร้อยวัน เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑เสด็จหนีจากเกาะเอลบา (Elba) กลับมาครองบัลลังก์ฝรั่งเศสอีกครั้งระหว่างวันที่ ๒๐ มีนาคมถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ อังกฤษได้แต่งตั้งให้เจ้าชายวิลเลียมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังอังกฤษประจำเนเธอร์แลนด์ต่อจากทอมัส แกรม (Thomas Graham) ในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนกรกฎาคมได้เลื่อนยศเป็นพลโทและพลเอก การดำรงยศและตำแหน่งดังกล่าวทำให้เจ้าชายวิลเลียมที่แม้จะมีพระชนมายุเพียง ๒๓ พรรษา แต่ก็เป็นนายทหารระดับสูงในกองทัพของสหพันธมิตรมีบทบาทสำคัญในยุทธการที่วอเตอร์ลูภายใต้การนำของดุ๊กแห่งเวลลิงตันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ทรงต่อสู้อย่างกล้าหาญจนได้รับบาดเจ็บ แต่ชัยชนะในยุทธการที่วอเตอร์ลูก็ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องอย่างมาก และชาวดัตช์ได้เสนอพระราชวังซุสต์ไดก์ (Soestdijk Palace) ให้เป็นที่ประทับ

 ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชวงศ์แฮโนเวอร์ของอังกฤษกับราชวงศ์ออเรนจ์ ทำให้จอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระเจ้าจอร์จที่ ๓ (George III)* ที่ทรงพระประชวรพระสัญญาณวิปลาสในขณะนั้นทรงอนุญาตให้เจ้าชายวิลเลียมหมั้นกับเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์ (Charlotte of Wales) พระธิดาซึ่งเป็นรัชทายาทอันดับ ๒ ของราชบัลลังก์อังกฤษ แต่การหมั้นหมายก็เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๑๓ ถึงพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ เนื่องจากถูกเจ้าหญิงคาโรลีนแห่งบรันสวิค (Caroline of Brunswick) พระชายาต่อต้าน เพราะไม่ต้องการให้พระธิดาไปประทับที่เนเธอร์แลนด์ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๑๖ เจ้าชายวิลเลียมหรือพระอิสริยยศเจ้าชายแห่งออเรนจ์ (Prince of Orange) มกุฎราชกุมารของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (United Kingdom of The Netherlands) ที่เพิ่งจัดตั้งใน ค.ศ. ๑๘๑๕ ได้เข้าพิธีเสกสมรสกับแกรนด์ดัชเชสอันนา ปัฟลอฟนา (Anna Pavlovna) พระกนิษฐาองค์เล็กในซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ณ หอสวดมนต์ในพระราชวังฤดูหนาว (Winter Palace) กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ทั้งนี้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

 ต่อมามีพระราชโอรสร่วมกัน ๔ พระองค์และพระราชธิดา ๑พระองค์เจ้าชายวิลเลียมอะเล็กซานเดอร์ พอล เฟรเดอริก หลุยส์ (William Alexander Paul Frederick Louis)พระราชโอรสองค์โตได้สืบราชสมบัติต่อในพระนามพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William III ค.ศ. ๑๘๔๙–๑๘๙๐)* อย่างไรก็ดี แม้จะทรงเหมือนมีครอบครัวที่มีความสุข แต่เจ้าชายวิลเลียมก็ทรงมีรสนิยมทางเพศที่เบี่ยงเบน โดยมีคนรักเป็นชายอยู่หลายคนซึ่งต่างเป็นคนสนิทในราชสำนัก พฤติกรรมดังกล่าวในเวลาต่อมาทำให้พระองค์ทรงถูกกรรโชกจากนักการเมืองบางคนหลายครั้ง

 การสถาปนาสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ตามมติของที่ประชุมในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาโดยรวมเอาเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ของออสเตรียหรือเบลเยียม และราชรัฐลักเซมเบิร์กเข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นเสมือนปราการป้องกันการขยายอำนาจของฝรั่งเศสในอนาคต ทำให้เจ้าชายวิลเลียมทรงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันประเทศ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหมและมีหน้าที่ป้องกันชายแดนระหว่างฝรั่งเศสกับเบลเยียม โดยต้องเสด็จไปประทับที่เบลเยียมปีละ ๖ เดือน และที่กรุงเฮกอันเป็นที่ตั้งของคณะรัฐบาลอีก ๖ เดือน

 ใน ค.ศ. ๑๘๒๙ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์เป็นรองประธานสภาแห่งรัฐและประธานสภาเสนาบดี ซึ่งการดำรงตำแหน่งนี้ทำให้พระองค์ทำหน้าที่เป็นประธานองคมนตรีที่มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ พระราชบิดาด้วยขณะเดียวกันในทศวรรษ ๑๘๒๐ แม้เจ้าชายวิลเลียมจะทรงทำหน้าที่ในการปกครองมณฑลตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์หรือเบลเยียมเป็นอย่างดีและได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอันมาก แต่การรวมเบลเยียมเข้ากับเนเธอร์แลนด์ดังกล่าวกลับมิได้เป็นไปอย่างราบรื่นนัก ทั้งนี้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศสและนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกซึ่งแตกต่างกับชาวดัตช์ในมณฑลตอนเหนือ นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในด้านวัฒนธรรมนโยบายเศรษฐกิจและอื่น ๆ ดังนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution ค.ศ. ๑๘๓๐)* ในฝรั่งเศส ชาวเบลเยียมจึงเห็นเป็นโอกาสก่อการปฏิวัติเพื่อแยกตัวเองเป็นอิสระ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ซึ่งทรงมีแนวคิดอนุรักษนิยมจึงทรงให้ใช้นโยบายแข็งกร้าวกับเบลเยียมและใช้กำลังปราบปราม ขณะที่เจ้าชายแห่งออเรนจ์ทรงทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาสันติภาพได้ถวายคำปรึกษาให้พระราชบิดาใช้วิธีผ่อนปรนกับชาวเบลเยียมมากกว่า และให้มณฑลตอนใต้มีการปกครองตนเองในระดับหนึ่งโดยยังให้อยู่ในอำนาจของราชวงศ์ออเรนจ์ แต่พระราชบิดาทรงปฏิเสธและเลิกปรึกษาพระองค์ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพระราชบิดา ในเดือนกันยายนฝ่ายปฏิวัติได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวและประกาศสถาปนาเบลเยียมเป็นรัฐเอกราช ในปลายปีนั้นมหาอำนาจยุโรปประกอบด้วยออสเตรีย รัสเซียและอังกฤษได้ประชุมที่ลอนดอนเพื่อพิจารณาปัญหานี้ ที่ประชุมเห็นว่าการจัดตั้งสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็นเรื่องที่จบสิ้นไปแล้ว (fait accompli) และต่างยอมรับเอกราชและการสถาปนาเบลเยียมเป็นราชอาณาจักร

 อย่างไรก็ดี ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๑พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ซึ่งทรงปฏิเสธมติของที่ประชุมแห่งลอนดอนได้ส่งเจ้าชายวิลเลียมเป็นผู้นำทัพเนเธอร์แลนด์ ในการรณรงค์ปราบปรามการปฏิวัติเบลเยียม “การรณรงค์ ๑๐ วัน” (TenDays’Campaign) ประสบความล้มเหลวโดยเบลเยียมมีกองทัพฝรั่งเศสหนุนหลัง ต่อมารัฐธรรมนูญเบลเยียมได้ตัดสิทธิสมาชิกทุกพระองค์ของราชวงศ์ออเรนจ์ที่ปกครองเนเธอร์แลนด์ไม่ให้มาเป็นประมุขของเบลเยียม รวมทั้งเจ้าชายแห่งออเรนจ์ที่ชาวเบลเยียมชื่นชอบด้วยและหันไปเลือกเจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งราชสกุลซักซ์-โคบูร์ก-โกทา-ซาลเฟลด์ (Saxe-Coburg-Gotha-Saalfeld) พระสวามีม่ายในเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งอังกฤษที่สิ้นพระชนม์ขณะมีพระประสูติการซึ่งเคยเป็นพระคู่หมั้นของเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์มาเป็นกษัตริย์แห่งเบลเยียม อย่างไรก็ดี เนเธอร์แลนด์ก็ไม่ยอมรับรองเอกราชของเบลเยียมและทำสงครามกับเบลเยียมต่อไปอีก ๘ ปี สูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลและก่อให้เกิดการต่อต้านพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ในหมู่ชาวดัตช์ จนในที่สุดก็ทรงถูกบีบให้ยุติสงครามและยอมรับการสลายตัวของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และรับรองเอกราชของเบลเยียม ส่วนสหราชอาณาจักรก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรเนเธอร์-แลนด์ แม้ราชรัฐลักเซมเบิร์กยังคงรวมอยู่ด้วยก็ตาม ซึ่งในเวลาต่อมาการที่ทรงถูกกดดันจากการแยกตัวของเบลเยียม กอปรกับการไม่พอพระทัยในการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงทรงสละราชสมบัติในวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๐ และเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งออเรนจ์ได้สืบราชสมบัติเฉลิมพระนามว่าพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒

 ในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ การเมืองของเนเธอร์แลนด์ได้คลี่คลายและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้พระองค์จะทรงมีแนวคิดอนุรักษนิยมแบบพระราชบิดา แต่ก็ทรงพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับคณะรัฐบาลและมักไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางการเมืองมากนัก พระราชกรณียกิจทางการเมืองของพระองค์เกิดขึ้นเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ไปทั่วยุโรปพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ ทรงตระหนักถึงภัยของการปฏิวัติและภัยที่อาจเกิดขึ้นกับระบบกษัตริย์อย่างที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสจนกระทั่งพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe)* ต้องเสด็จลี้ภัยไปพำนักที่อังกฤษ และพวกปฏิวัติได้ประกาศลบล้างระบบสถาบันพระมหากษัตริย์และจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวที่อาจเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในเนเธอร์แลนด์และเป็นเหตุให้กษัตริย์ต้องสูญเสียราชบัลลังก์ จึงโปรดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญและขยายสิทธิการเลือกตั้งก่อนที่จะทรงถูกบังคับให้ทำและปฏิรูปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของคณะปฏิวัติ ซึ่งต่อมามีพระราชดำรัสเป็นที่จดจำกันได้ว่า “ข้าพเจ้าเปลี่ยนแนวคิดจากอนุรักษนิยมเป็นเสรีประชาธิปไตยได้ในคืนเดียว” ทรงโปรดให้โยฮัน รูดอล์ฟ ทอร์เบคเคอ (Johan Rudolph Thorbecke) แห่งพรรคเสรีนิยมคนสำคัญเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นและประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๘ รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๔๘ ถือว่าเป็นรากฐานของระบอบการปกครองของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (Eerste Kamer) แทนระบบแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และจัดให้มีการเลือกตั้งทางอ้อมในมณฑลต่าง ๆส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Tweede Kamer) ให้เลือกโดยตรงจากผู้ที่จ่ายภาษีตามจำนวนที่กำหนด ซึ่งระบบการเลือกตั้งใหม่นี้จึงเท่ากับเป็นการลดพระราชอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์และทำให้อำนาจทางการเมืองตกเป็นของรัฐสภามากขึ้น ส่งผลทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็นส่วนหนึ่งในกลไกรัฐบาลมากกว่าจะเป็นผู้ควบคุมรัฐบาลโดยตรง นอกจากนี้ยังให้สิทธิเสมอภาคแก่มณฑลที่ประชากรนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเท่ากับมณฑลอื่น ๆ ที่ประชากรนับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ยกเลิกข้อห้ามทางศาสนาต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิของประชาชนและอื่นๆการปฏิรูปการเมืองหรือรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๔๘ นี้กลายเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดการปฏิรูปทางสังคมต่าง ๆ ผลของการปรับปรุงและปฏิรูปกฎหมายและสังคม จึงทำให้พรรคแรงงานในเนเธอร์แลนด์เติบใหญ่และการขยายตัวขององค์กรแรงงานต่าง ๆ ก้าวหน้าจนกลายเป็นสหภาพแรงงานในที่สุด

 หลังจากทรงให้สัตย์ปฏิญาณต่อรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๔๘ ได้ไม่นาน พระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ ก็มีพระอาการประชวร ขณะเดียวกันก็มีพระราชประสงค์ที่จะไปพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ณ พระราชวังที่เมืองติลบูร์ค (Tilburg) ทรงออกเดินทางไปยังเมืองติลบูร์คเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ โดยทรงแวะทอดพระเนตรการต่อเรือยอร์ชที่ใช้พลังไอน้ำที่เมืองโรตเตอร์ดัม (Rotterdam) ขณะที่เข้าเยี่ยมชมเรือดังกล่าวทรงพลัดตกจากบันได และทำให้พระอาการประชวรทรุดลงจนไม่สามารถทรงพระอักษรหรือลงพระนามในเอกสารราชการได้ มีพระอาการหายพระหทัยไม่สะดวกและท้ายที่สุดก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ขณะพระชนมายุ ๕๗ พรรษา.



คำตั้ง
William II
คำเทียบ
พระเจ้าวิลเลียมที่ ๒
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การรณรงค์ ๑๐ วัน
- เคปโคโลนี
- นโปเลียนที่ ๑
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- พรรคแรงงาน
- พรรคเสรีนิยม
- ยุทธการที่เมืองเยนา
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- ยุทธการที่วากราม
- เวลส์
- สงครามคาบสมุทร
- สงครามนโปเลียน
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๕
- สนธิสัญญาอาเมียง
- สมัยร้อยวัน
- สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
- สหภาพแรงงาน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1792–1849
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๓๕–๒๓๙๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-